ถูกขโมยบัตรเครดิตไปใช้ ผู้ถือบัตรต้องรับภาระหนี้ดังกล่าวหรือไม่

ถูกขโมยบัตรเครดิตหรือเดบิตไปใช้ และได้แจ้งอายัดบัตรกับธนาคารโดยเร็วแล้ว ผู้ถือบัตรต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ให้ธนาคารหรือไม่ ถ้ามีข้อสัญญาระบุว่า ผู้ถือบัตร ต้องรับผิดชอบ ในกรณีนี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ผู้ถือบัตร ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงิน และธนาคารยังต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้ถือบัตร พร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษด้วย

  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1989/2552

ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด     โจทก์

นางสาวเรืองรวี รวิรัฐ      จำเลย

 

พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

 

          ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าธนาคารฮ่องกง ประเภทบัตรคลาสสิคของโจทก์ จำเลยใช้บัตรของโจทก์ชำระราคาสินค้าและบริการตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 23 ตุลาคม 2544 จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 24,400 บาท ดอกเบี้ยจำนวน1,552.90 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 300 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 แต่ไม่ชำระ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 24,400 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 621.69 บาท รวมเป็นเงิน 26,745.59 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 26,745.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 24,400 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องระหว่างวันเวลาที่มีการใช้บัตรเครดิตจำเลยเดินทางไปเมืองฮ่องกงและบัตรหายไป มีผู้นำบัตรของจำเลยไปใช้โดยปลอมลายมือชื่อของจำเลยขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 24,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท

          จำเลอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างได้วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าธนาคารฮ่องกงประเภทบัตรเครดิตคลาสสิคของโจทก์ จำเลยได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวของโจทก์ชำระราคาสินค้าและบริการตลอดมา ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 จำเลยเดินทางโดยสารการบินจากประเทศไทยไปพักอยู่ที่เมืองฮ่องกงตามหลักฐานหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 บัตรเครดิตดังกล่าวมีผู้ลักเอาไปจากกระเป๋าเดินทางของจำเลยโดยได้นำไปใช้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลา 11.02 นาฬิกา และเวลา 11.05 นาฬิกา ที่ร้านเจมาร์ทในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว รวมเป็นเงินจำนวน 24,400 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยทราบว่าบัตรเครดิตดังกล่าวหายไป จำเลยได้โทรศัพท์แจ้งศูนย์บัตรเครดิตของโจทก์ทราบ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว และลายมือชื่อผู้ใช้บัตรในเซลสลิปทั้งสองรายการตามเอกสารหมาย ล.3 ใช้ชื่อว่ารุ่งระวี ส่วนลายมือของจำเลยตามที่ปรากฎในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต ตามเอกสารหมาย จ.5 ใช้ชื่อว่า เรืองรวี

          มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่า ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น กับบัญญัติไว้ในวรรคสามว่า ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่มีข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งถือเป็นผู้บริโภคต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้า ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลัน เพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร (จำเลย) ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที ซึ่งนอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 6 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ธนาคาร (โจทก์)จะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตร (จำเลย) หากผู้ถือบัตรปฏิเสธว่ามิได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือเป็นผู้ขอรับบริการ...ฯลฯ แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ในกรณีนี้ได้ ซึ่งตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของนายปฏิภาณ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ได้ความว่าหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ และลายมือชื่อผู้ใช้บัตรในเซลสลิป ตามเอกสารหมาย ล.3 ไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยผู้ถือบัตรว่าบัตรเครดิตดังกล่าวได้สูญหายไปเพราะมีคนมารื้อค้นเอาไปจากกระเป๋าเดินทางของจำเลยเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว ถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว เพราะคงมีผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์เพียงไม่กี่รายที่มาแจ้งต่อโจทก์เช่นนี้ ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวในเซลสลิปดังกล่าวไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยตามที่ปรากฎอยู่ในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าเอกสารหมาย จ.5 เนื่องจากมีความแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน แสดงว่า ร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิปดังกล่าวว่าตรงกับลายมือชื่อผู้ถือบัตรในบัตรเครดิตดังกล่าวหรือไม่แม้แต่น้อย ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ โดยเห็นว่ามีข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สมชาย สินเกษม - ประทีป ปิติสันต์ - สุรชัย เอื้ออารีตระกูล )

 

ฝรั่งออสเตรเลียฟ้องธนาคารกรุงไทย ฐานหักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตรทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1.25 แสน ศาลพิพากษาธาคารผิดจริงให้จ่ายค่าเสียหายตามที่เรียกพร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษอีก 120,000 บาท

 

เมื่อวันที่  7  พฤศจิกายน  2555  เวลา 09.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 8  ศาลแขวงพระนครใต้  ศาลชั้นต้นออกนั่งบัลลังก์พิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 1711/2555  คดีระหว่าง นายเจฟฟรี จี เอเลน  โดยนายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ และ นางสาวรัชนีวรรณ พาพันธุ์เรือง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์  ยื่นฟ้อง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  ต่อศาลแขวงพระนครใต้   เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 125,357.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยหักเงินจากบัญชีของโจทก์  กรณีธนาคารกระทำการผิดสัญญาฝากทรัพย์และผิดสัญญาการใช้บัตรเดบิตต่อผู้บริโภคที่ใช้บริการ

 

โดยศาลพิพากษาให้ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้นายเจฟฟรี จี เอเลน  เป็นเงินจำนวน 125,357.11 บาท พร้อมสั่งให้ ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เพิ่มอีก 120,599.35 บาท  รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 245,956.46 บาท

 

จากกรณีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 นายเจฟฟรี ฯ สัญชาติออสเตรเลีย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้ถือบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ตนมีอยู่ และพบว่ายอดเงินในบัญชีลดลงโดยที่ตนเองไม่ได้ใช้   ซึ่งทราบว่ามีผู้ลักลอบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนเพื่อใช้บริการซื้อสินค้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2554  ถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 เป็นจำนวนเงินรวม 120,599.35 บาท  ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายที่ต้องใช้บัตรเดบิตประกอบการลงลายมือชื่อด้วยตนเอง มิใช่การซื้อสินค้าและบริการที่ชำระด้วยการโอนเงินโดยใช้บัตรประกอบรหัสประจำตัวได้ โดยที่ในช่วงเวลาที่มีการใช้บัตรเดบิตดังกล่าว นายเจฟฟรี ฯ พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย มิได้เดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด

 

ต่อมาธนาคาร ได้ตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต และปฏิเสธการคืนเงิน โดยอ้างว่าการตรวจสอบของธนาคารไม่พบความผิดปกติ การใช้ดังกล่าวเป็นการใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าและบริการตามปกติ ไม่ใช่การทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ จึงไม่สามารถคืนเงินให้แก่นายเจฟฟรี ฯ ได้  นายเจฟฟรี ฯ ไม่มีทางใดจะเรียกคืน จึงต้องฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555  โดยศาลชั้นต้นใช้เวลาดำเนินกระบวนพิจารณารวม 4 เดือน

 

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วรับฟังได้ว่า    กรณี นี้จำเลยยอมรับว่ามีผู้นำบัตรเดบิตที่จำเลยออกให้โจทก์ ไปใช้ในต่างประเทศจริงและทราบด้วยว่าใช้ที่ไหนบ้าง ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวจะต้องมีเซลล์สลิปการใช้บริการหรือลายมือชื่อ ลูกค้าเป็นหลักฐาน แต่จำเลยกลับไม่นำหลักฐานดังกล่าวมาแสดงต่อศาล อีกทั้งพยานจำเลยยังเบิกความย้ำว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานสันนิษฐานได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้จริง ซึ่งหากมีกรณีบัตรถูกขโมยไปใช้นั้น ธนาคารจะไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้ออ้างของโจทก์ที่ยืนยันว่าโจทก์ไม่ได้ เป็นผู้ใช้ดังกล่าว

 

ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าโจทก์เป็นผู้ใช้เองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนำไปใช้ จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรายการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ เมื่อจำเลยหักเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ไปแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีของโจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยหักเงินไปจากบัญชีของโจทก์ และการที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่า กรณีนี้เกิดจากมีบุคคลอื่นขโมยบัตรเดบิตของโจทก์ไปใช้ เมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยกลับปฏิเสธไม่คืนเงินดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมพิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 120,599.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 120,599.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อีก 120,599.35 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 245,956.46 บาท และให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความโจทก์ 5,000 บาท

 

นายเจฟฟรี จี เอเลน ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย กล่าวว่า  “ รู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาลไทยเป็นอย่างมาก ผมดีใจที่ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา เนื่องจากการจ่ายเงินคืนของธนาคารเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีความจำเป็น แม้จะไม่มากมายแต่ก็เป็นเงินเพื่อใช้ในการยังชีพของผมที่อายุมากและภรรยา  ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน อยากให้ธนาคารให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่านี้  ”

 

นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับผู้บริโภค ที่ถูกธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบและจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับธนาคาร  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องปรามหรือยับยั้งไม่ให้ผู้ประกอบการทำเช่นนี้กับใครอีก โดยเฉพาะการที่จำเลยในคดีนี้เป็นรัฐวิสาหกิจควรต้องมีการประกอบการที่สุจริตเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนานาชาติ

 

“ในคดีนี้กระบวนพิจารณาของศาลก็รวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอนาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ทั้งนี้ศูนย์ทนายความอาสาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนำผลของคดีนี้ไปศึกษา เพื่อขยายผลและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป ” นายเฉลิมพงษ์

 

ที่มา http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=article&id=2566%3A-25-&catid=220%3A2012-08-10-08-32-17&Itemid=282#.VWwBLml-zlA.facebook

Visitors: 155,407